วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การเปิดเสรีทางการค้า

การเปิดเสรีทางการค้า ตามหลัก การขององค์การระหว่างประเทศที่เรียกว่า “องค์การการค้าโลก(World Trade Organization : WTO)” ในยุคปัจจุบันจัดได้ว่าเป็นยุคของการแข่งขันแบบการค้าเสรี ซึ่งประเทศต่างๆในโลก จำเป็นต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้สามารถรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้ และนับวันแนวโน้มการแข่งขันในตลาดการค้าโลกจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กระแสการค้าภายใต้การแข่งขันเสรีระหว่างประเทศได้นำไปสู่ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า หรือ แกตต์ (General Agreement on Tariffs and Trade: GATT) และต่อมาได้ พัฒนาการมาเป็นองค์การการค้าโลก(World Trade Organization : WTO) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการตามความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบัน (ณ วันที่ 1 ต.ค. 2551) มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 153 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เป็นเวทีในการเจรจาลดอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้า และจัดทำกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้การค้าโลกมีความเสรียิ่งขึ้น บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน เป็นเวทีในการยุติข้อพิพาท ทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก เป็นกลไกตรวจสอบและทบทวนนโยบายการค้าของประเทศสมาชิก
ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของแกตต์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 เป็นประเทศที่ 88 และได้ผูกพันอัตราภาษีศุลกากรของสินค้าไว้ 93 รายการ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับสิทธิประโยชน์ที่ประเทศภาคีอื่นผูกพันไว้ด้วย หลังจากแกตต์ได้พัฒนามาเป็นองค์การการค้าโลกแล้ว ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 59 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2537 โดยมีฐานะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งด้วยประเทศหนึ่ง
FTA เป็นความตกลงระหว่าง 2 ประเทศขึ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อให้เกิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ได้ขยายขอบเขตของ FTA ให้ครอบคุมการค้าด้านต่าง ๆ อาทิเช่น บริการท่องเที่ยว ด้านการขนส่ง (Logistics) ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร เป็นต้น พร้อมกับความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยสะท้อนแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า “ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นสูงสุดเมื่อประเทศต่าง ๆ ผลิตสินค้าที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วนำสินค้าเหล่านั้นมาค้าขายแลกเปลี่ยนกัน” ในปัจจุบันนอกจาก AFTA แล้ว ประเทศไทยยังได้มีข้อตกลง FTAs กับอีกหลายประเทศที่มีผลบังคับใช้แล้ว อาทิเช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น