วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

“จุดเริ่มต้นของการพัฒนาตามกระแสโลกาภิวัตน์”

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน
สำหรับบทความตอนนี้ผมขอใช้ชื่อ “จุดเริ่มต้นของการพัฒนาตามกระแสโลกาภิวัตน์” นะครับ แรงบันดาลใจของบทความนี้มาจากการที่ผมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเมืองของเราอาทิเช่นการเปิดเสรีทางการค้า และในหลายสนธิสัญญาที่ภาครัฐได้มีการลงนามแล้วนั้น ล้วนแต่ส่งผมกระทบต่อประชาชนอย่างเรา ๆ เช่น การเปิดตลาดเสรีอาเซียน การเปิดเสรีทางการค้ากับจีน การเปิดเสรีทางการค้ากับญี่ปุ่น การเปิดเสรีทางการค้ากับอินเดีย ฯลฯ แล้วประชาชนอย่างเรา ๆ จะรับรู้ถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและต้องมีการปรับตัว หรือดำเนินการอย่างไร เพื่อที่จะประสบผลสำเร็จท่ามกลางภาวะการเปลี่ยนแปลง

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว หลาย ๆ ท่านจะคุ้นเคยกับคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่ว่า “Globalization” ซึ่งเราแปลเป็นภาษาไทยว่า “โลกาภิวัตน์” และเรียกติดปากกันอยู่ทุกวันนี้ โลกาภิวัตน์ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง "การแพร่กระจายไปทั่วโลก; การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศเป็นต้น" ดังนั้นเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ โลกาภิวัตน์จึงเปรียบเสมือนเป็นกระบวนการที่ประชากรของโลกถูกหลอมรวมกลายเป็นสังคมเดี่ยวด้วยเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นบนประชาคมโลกและมีการแพร่กระจายในรายละเอียด อย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ

จากสิ่งที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นนี้เราลองมาพิจารณาความพร้อมของประชาชนคนไทยอย่างเรา ๆ ว่า “จุดเริ่มต้นของการพัฒนาตามกระแสโลกาภิวัตน์” นั้น ควรจะเริ่มจากเรื่องใดก่อน เพราะความเป็น “โลกาภิวัตน์” นั้นได้หมายรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดอยู่บนโลกใบนี้ ถ้าท่านผู้อ่านลองจินตนาการณ์เรื่องต่าง ๆ รอบตัวเราดู เราอาจจะมีเรื่องตลกขบขันชนิดที่เรียกว่าขำไม่ออกก็ได้นะครับ เช่นเราอาจจะได้ประชากรที่ประกอบด้วยเชื้อชาติที่หลากหลาย เช่นคุณปู่เป็นลูกครึ่ง อเมริกัน อิตาเลี่ยน คุณย่า เป็น ลูกครึ่งอังกฤษ สเปน ส่วนตุณตา เป็นลูกครึ่งอินเดีย จีน คุณยาย เป็น ลูกครึ่งไทย เกาหลี ต่าง ๆ แบบนี้แล้วทายาทรุ่นต่อไปจะถือสัญชาติใดจึงจะเหมาะและภาษาที่จะใช้สื่อสารกันระหว่างญาติพี่น้องและควรใช้ภาษาใดเป็นภาษาหลักในการเจรจาสื่อสารสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ เราจำเป็นต้องเลิกยึดถืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หยุดการทุ่มเทเป็นพิเศษเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมมาสู่จุดยืนที่ยั่งยืนด้วยวิถีเศรษฐกิจแบบพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จเพระเจ้าอยู่หัว หมายความว่าจะต้องนำระบบเศรษฐกิจออกจากการชี้เป็นชี้ตาย โดยกลไกตลาดจากภายนอก และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตามแนวทางสังคมไทย หมายถึงสังคมที่มั่นคงทางชุมชน และความมั่งคั่งทางรายได้ โดยไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมาก มิฉะนั้นแล้วจะทำให้สังคมเสียดุลภาค เพราะยิ่งอัตราการเติบโตสูงขึ้น แต่เป็นความเจริญเติบโตที่เปราะบางและไม่แท้จริง ทำให้ทันสมัยแค่เปลือกนอก การพัฒนาที่เสียดุลภาคเช่นนี้ทำให้จุดยืนตั้งอยู่บนความไม่ยั่งยืน เพราะได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวจากจุดถ่วงดุลที่ควรจะเป็น เช่น สิ่งแวดล้อมได้เคลื่อนจากจุดยืนที่อุดมสมบูรณ์ เศรษฐกิจได้ผกผันจากศักยภาพแห่งการพึ่งตนเองสู่การพึ่งพิงจากภายนอก เป็นต้น

นิยามความหมาย “เศรษฐกิจพอเพียง” “การพัฒนาชนบท” ปรับเปลี่ยนตามบริบทของโลกไปด้วย เราจะต้องมองให้เห็นตัวที่ก่อปัญหา มองให้เป็นเพื่อนำมาวิจัยเป็นองค์ความรู้พัฒนาประเทศ ไม่ใช่เพื่อตอบสนองความต้องการแบบพอกินพอใช้เท่านั้น แต่จะต้องแสวงหาแม่แบบที่สามารถตอบปัญหา รวมทั้งหาจุดยืนในกระแสโลกาภิวัตน์ได้ด้วย นั่นคือกระบวนพัฒนาอย่างมีขั้นตอนภายใต้ระบบเศรษฐกิจพอเพียง จากพออยู่พอกินมีศักยภาพในการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ยกระดับการพัฒนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติซึ่งเกิดจากระบบการพัฒนาไม่ไปกระทบระบบนิเวศน์จนนำไปสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือ เศรษฐกิจชุมชน โดยเริ่มจากการแสวงหาความรู้ วิทยาการใหม่ๆ มาต่อยอดภูมิปัญญาไทยแล้วมาปรับเป็นระบบเศรษฐกิจที่ฐานของคนในสังคมไทย

ผมขอนำเสนอการเรียนรู้อย่างง่าย ๆ เพื่อเข้าสู่“จุดเริ่มต้นของการพัฒนาตามกระแสโลกาภิวัตน์”ดังนี้คือ
 การอบรมและพัฒนา Training and Development
 การวิจัยและพัฒนา Research and Development
 การลอกเลียนแบบและพัฒนา Copy and Development
เราจะอยู่รอดท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ได้นั้นจะต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และต้องมีการพัฒนาสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้ดีขึ้นโดยปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของสังคมไทยเพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนนะครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. Copy and Development นี้ต้องทำยังไงถึงจะทันโลกาภิวัตน์อะครับ งง - -*

    ตอบลบ
  2. สำหรับเรื่องนี้มีอีกคำที่ใช้แทนได้คือ การBenchmarking ซึ้งเป็นการค้นหาจุดเด่นจุดด้อยของตนเอง โดยใช้วิธีเปรียบเทียบกับผู้อื่น ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า จากนั้น นำข้อมูลที่วิเคราะห์ได้มาปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เขาเป็นอยู่คับ

    ตอบลบ