วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ระบบทุนนิยม

ระบบทุนนิยมตลาดเสรีที่มีรูปลักษณ์ในปัจจุบันไม่ได้เป็นระบบเศรษฐกิจ ที่มีอยู่คู่กับโลกนี้มาแต่ดั้งเดิมแต่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของบริบททางประวัติศาสตร์ ซึ่งสามารถแบ่ง
พัฒนาการของระบบทุนนิยม เป็นดังนี้

1. ทุนนิยมเสรี(คลาสสิค) นักคิดที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดนี้คนสำคัญก็คือ อดัม สมิธ ผู้ที่เสนอมือที่มองไม่เห็น(Invisible Hand) ในการจัดการเศรษฐกิจ อดัม สมิธ เชื่อว่าการปล่อยให้เศรษฐกิจดำเนินไปโดยที่รัฐไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว จะทำให้ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจของสังคมโดยรวมดีขึ้น โดยแนวคิดนี้เกิดขึ้นมาจากการต่อต้านลัทธิพาณิชย์นิยมที่เน้นให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดในการค้าต่างประเทศ แต่การที่ให้รัฐผูกขาดเช่นนั้นทำให้ระบบเศรษฐกิจประสบปัญหากับผลผลิตล้นเกิน ไม่สามารถระบายสินค้าที่ผลิตจำนวนมากๆได้ เนื่องจากภาคเอกชนไม่มีกำลังซื้อที่เพียงพอ ดังนั้นการปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินการเองจึงเป็นการสร้างเสถียรภาพและความสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจ (ม.ส.ธ. 2526) แนวคิดการปล่อยให้ภาคเอกชนเข้ามาจัดการเศรษฐกิจโดยรัฐไม่เข้ามาก้าวก่ายนี้จึงเป็นแนวคิดหลักของทุนนิยมเสรี และการปล่อยให้นายทุนดำเนินการเองส่งผลให้เกิดการพัฒนาพลังทางการผลิตมากขึ้น ก่อให้เกิดการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นระดับหนึ่งแต่อีกด้านหนึ่งกลับทำให้คนที่แข็งแรงมากกว่าเอารัดเอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่าได้

2. ทุนนิยมแบบเคนส์ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ประสบภาวะทางตันเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 1930 การปล่อยให้เอกชนจัดการเศรษฐกิจไม่ช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น จึงมีนักเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่งได้เสนอให้รัฐเข้ามามีบทบาทในการเข้ามาแก้ปัญหามากขึ้น นักเศรษฐศาสตร์ผู้นั้นคือ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ซึ่งเสนอว่าระบบตลาดเสรีปัญหามาจากการลังเลใจของนายทุนที่จะลงทุนในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ดังนั้นแนวทางออก ที่ควรจะเป็นคือรัฐบาลต้องมีมาตรการในการควบคุมการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศ ลดอัตราดอกเบี้ยและต้องเร่งใช้งบประมาณของรัฐในการลงทุน เพื่อกระตุ้นความต้องการในการใช้จ่าย(ประชาธิปไตยแรงงาน 2544 : 2) ตัวอย่างของแนวความคิดนี้ถูกนำไปใช้โดยประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รุสเวลต์แห่งสหรัฐอเมริกาภายใต้นโยบาย นิวดีล ซึ่งนโยบายนี้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจขณะนั้นพอสมควร

3. ทุนนิยมโดยรัฐ เป็นแนวคิดระบบเศรษฐกิจหนึ่ง ที่รัฐมีบทบาท ควบคุมเศรษฐกิจของประเทศนักวิชาการคนหนึ่งที่เสนอแนวคิดนี้คือโทนี่ คลิฟ เขาเห็นว่าระบบเศรษฐกิจของรัฐเซียสมัยสตาลิน มิใช่เป็นเศรษฐกิจตามแนวทางสังคมนิยมแต่เป็นรูปลักษณ์ของระบบทุนนิยมประเภทหนึ่ง ระบบทุนนิยมโดยรัฐ มีลักษณะต่างสังคมนิยมกล่าวคือเป็นระบบเศรษฐกิจปัจจัยการผลิตถูกควบคุมจากข้ารัฐการมากกว่าจะเป็นของกรรมาชีพ เป็นระบบที่กรรมาชีพไม่มีสิทธิรวมตัวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน มีการปฏิเสธสิทธิพื้นฐานของกรรมาชีพ การกดขี่แรงงานภายใต้เงื่อนไขการผลิต การกดขี่การผลิตเพื่อความต้องการที่จะผลิตเพื่อสะสมทุน มีการสะสมทุนในขณะที่ความยากจนเพิ่มขึ้นซึ่งแสดงว่ามีการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานอยู่ (ใจ 2543 : 158-163) ดังนั้นระบบเศรษฐกิจการเมืองในลักษณะเช่นนี้ถึงแม้รูปแบบเปลือกนอกอาจจะอ้างว่าเป็นรัฐสังคมนิยม แต่เนื้อในแล้วก็เป็นเพียงลักษณะหนึ่งของระบบทุนนิยม

4. ทุนนิยมตลาดเสรี ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยให้รัฐมีบทบาทเข้ามาควบคุมจัดการประสบปัญหาวิกฤติศรัทธาเมื่อเผชิญปัญหากับวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 1970 แนวคิดนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทำให้เริ่มมีกระแสในการหันกลับไปใช้ความคิดเสรีนิยมอีกครั้ง เป็นการนำเอากลไกตลาดเข้ามาจัดการเศรษฐกิจโดยนักคิดที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์สายนีโอคลาสิค (Neo-classsical) หรือพวกที่ยึดมั่นถือมั่นในระบบตลาดและการค้าเสรี โดยพวกเขามีสมมติฐานว่า หน่วยเศรษฐกิจที่อยู่ในระบบมีการแข่งขันโดยเสรี การกำหนดปริมาณการผลิต ราคาสินค้า ปริมาณการจ้างงาน และราคาปัจจัยการผลิต ทำโดยกลไกของตลาดด้วยอุปสงค์(demand)และอุปทาน( supply ) วิสาหกิจเอกชนขนาดเล็กจำนวนมากแข่งขันกันอย่างเสรีไม่มีการจำกัดและการผูกขาดจากกลุ่มธุรกิจใดๆ(ฉัตรทิพย์ 2541:111-121) สำนักนีโอคลาสิคเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจตามทฤษฎีเช่นนี้เป็นระบบที่ดีที่สุดที่จะสรรทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดให้กับสังคมสำนักนี้มีนักคิดคนสำคัญเช่นเจวอน(stanley jevon) ,มาร์แชล(Alfred Marshall), เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น