วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

ซึ่งผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามบทบัญญัติมาตรา 50 (1) วรรคสาม ซึ่งมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาเป็นอันมาก จึงขอนำมาเป็นประเด็น ปุจฉา - วิสัชนา ดังต่อไปนี้
ปุจฉา เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน มีลักษณะอย่างไร
วิสัชนา ลักษณะของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ได้แก่ เงินได้ดังต่อไปนี้ โดยผู้มีเงินได้ต้องปฏิบัติงานกับนายจ้างหรือหน่วยงานที่จ่ายเงินได้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์
1. เงินบำเหน็จที่ทางราชการกระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การของรัฐบาล เป็นผู้จ่าย ตามกฎหมายว่าด้วย บำเหน็จบำนาญข้าราชการ
2. เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วย บำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งจ่ายโดยนายจ้างอื่นใดที่มิใช่กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การของรัฐบาล
3. เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้แก่ เงินได้ส่วนที่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบและผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เช่น ดอกเบี้ย ในนามของลูกจ้างหรือผู้มีเงินได้แต่ละคน เป็นต้น
4. เงินที่จ่ายจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กองทุน กบข.) ได้แก่ เงินได้ส่วนที่เป็นเงินที่ทางราชการจ่ายสมทบ และผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้จากกองทุน กบข. เช่น เงินประเดิม ดอกเบี้ยในนามของข้าราชการหรือผู้มีเงินได้แต่ละคน เป็นต้น
เงินที่จ่ายจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการในกรณีนี้ มีกฎหมายยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) โดยให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2540 เป็นต้นไป
5. เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานหรือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้แก่ กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างงาน โดยที่ลูกจ้างไม่ปรากฏความผิด ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
6. เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตาม 1. ถึง 5. เช่น นายจ้างจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนหนึ่งเท่าครึ่งหรือสองเท่าของเงินบำเหน็จปกติที่คำนวณตามหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเพิ่มจำนวนปีที่ทำงานในการคำนวณบำเหน็จให้แก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างทำงานอยู่กับนายจ้างเป็นระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้ หรือเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานสุดแต่ความพอใจของนายจ้าง เป็นต้น
ปุจฉา เงินบำเหน็จที่ทางราชการกระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การของรัฐบาล เป็นผู้จ่าย ตามกฎหมายว่าด้วย บำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขอย่างไร
วิสัชนา เงินบำเหน็จดังกล่าว มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้
บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x จำนวนปีที่ทำงาน
เงินเดือนเดือนสุดท้าย หมายความว่า เงินเดือนที่ได้รับจากเงินงบประมาณประเภทค่าใช้จ่าย
เงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ออกจากราชการ รวมทั้งเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับค่าวิชาและหรือเงินเพิ่มการเลื่อนฐานะ และหรือเงินสำหรับประจำตำแหน่งที่ต้องฝ่าอันตรายเป็นปกติ และหรือสำหรับการสู้รบ และหรือสำหรับการปราบปรามผู้กระทำความผิด แต่ไม่รวมถึงเงินเพิ่มอย่างอื่น
เวลาราชการสำหรับการคำนวณบำเหน็จ หมายความว่า เวลาราชการที่ข้าราชการรับราชการมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับเงินเดือน ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ โดยให้นับแต่จำนวนปีเท่านั้น สำหรับเศษของปีถ้าถึงครึ่งปี ให้นับเป็น หนึ่งปี การนับระยะเวลาดังกล่าวสำหรับเดือนหรือวันให้คำนวณตามวิธีการจ่ายเงินเดือนและให้นับสิบสองเดือนเป็นหนึ่งปี สำหรับจำนวนวันถ้ามีรวมกันหลายระยะให้นับ 30 วันเป็นหนึ่งเดือน และในกรณีที่กฎหมายให้นับเวลาราชการทวีคูณ ก็สามารถนำเวลาราชการทวีคูณมาคำนวณบำเหน็จได้ด้วย
ปุจฉา ข้าราชการมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญปกติเพราะเหตุออกจากงานเนื่องจากกรณีใดบ้าง
วิสัชนา ข้าราชการมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญปกติเพราะเหตุออกจากงานเนื่องจากกรณี ดังต่อไปนี้
1. เหตุทดแทน ได้แก่ การที่ข้าราชการออกจากประจำการเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่งหรือซึ่งคำสั่งให้ออกโดยไม่มีความผิด
2. เหตุทุพพลภาพ ได้แก่ การที่ข้าราชการป่วยเจ็บ ทุพพลภาพ ซึ่งแพทย์ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าไม่สามารถที่จะรับราชการในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป
3. เหตุสูงอายุ ได้แก่ การที่ข้าราชการมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วหรือถ้าข้าราชการ ผู้ได้มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วประสงค์จะลาออกจากราชการก็ให้ผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ลาออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จเพราะสูงอายุได้
4. เหตุรับราชการนาน ได้แก่ การที่ข้าราชการรับราชการครบ 30 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าข้าราชการผู้ใดรับราชการครบ 25 ปีบริบูรณ์แล้ว ประสงค์จะลาออกจากราชการก็ให้ผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ลาออกเพื่อรับบำเหน็จปกติเพราะเหตุรับราชการนานได้
ทีมา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ http://www.bangkokbiznews.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น