วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ความสุขในการทำงานจากมุมมองเชิงบวก 360องศา

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ผู้เขียนมีข้อคิดในการดำเนินชีวิตที่เป็นแง่คิดเตือนใจ เรื่อง “ความสุขในการทำงานจากมุมมองเชิงบวก 360องศา” มาช่วยกันแชร์ความคิดนะครับ

คนเราทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตนั้นต้องจมอยู่กับการทำงานต่าง ๆ มากมาย หลาย ๆ ท่านมีความสุขแต่อีกหลาย ๆ ท่านต้องทนทุกข์อย่างสาหัสกับการทำงาน ทั้ง ๆที่ชีวิตการทำงานนั้นให้สิ่งต่าง ๆ มากมายกับตัวเราและบุคคลรอบข้างเรา แล้วเหตุใดหลายบุคคลเหล่านั้นจึงต้องทุกข์ทรมารกับการทำงาน ผู้เขียน เห็นว่าคนเรานั้นมีมุมมองสองด้านคือ ด้านบวก (Positive) และด้านลบ (Negative) แต่คนส่วนใหญ่มักจะมีมุมมองที่โน้มเอียงไปทางด้านลบ โดยการนำสิ่งที่ตนเองได้รับอยู่ไปเปรียบเทียบกับบุคคลอื่นโดยขาดการพิจารณาในองค์ประกอบ อาทิเช่น เรื่องของเงินเดือนที่ต้องเก็บให้เป็นความลับส่วนบุคคล แต่ด้วยมารยาทของคนไทยที่ความอยากรู้อยากเห็นที่มักจะถามเรื่องเงินเดือนที่ได้รับ และมักนำมาเปรียบเทียบกับตนเองจนก่อให้เกิดความไม่สบายใจและรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับตนเอง

นอกจากนี้ หลาย ๆ ท่านยังนำเรื่องดังกล่าวมาสร้างมุมมองด้านลบ (Negative) อีกว่า ตนเองไม่มีเส้นมีสายในที่ทำงาน และมิได้เป็นคนโปรดของหัวหน้างาน โดนเพื่อนร่วมงานขโมยผลงานต่าง ๆ นา ๆ จนทำให้ตนเองไม่ได้รับความยุติธรรม หรือในบทบาทของหัวหน้าที่ได้รับการตำหนิจากผู่ใหญ่และได้โยนผลของการกระทำดังกล่าวไปให้ลูกน้องว่าเกิดจากการที่ตนเองมีลูกน้องที่ขาดทักษะ ความรู้ และประสิทธิภาพในการทำงานจนส่งผลให้ตนเองต้องโดนตำหนิ แทนที่การเรียนรู้ความผิดพลาดและข้อบกพร่องต่าง ๆ และนำพัฒนาตนเองและทีมงานโดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทน

สำหรับประเด็นนี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ ท่านผู้อ่านทุกท่านทดลองใช้มุมมองเชิงบวก 360องศาโดยสมมุติตนเองเป็นจุดศูนย์กลางของวงกลม 360องศานะครับ และทำการพิจารณาตามผู้เขียนไปที่ละประเด็นดังนี้



๑) งาน หลายคนมีมุมมองทางลบกับงานที่ตนเองทำอยู่ใช่ไหมครับ ผู้เขียนขอแนะนำมุมมองเชิงบวกนะครับว่าให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาว่าจะทำงานอย่างสนุกและมีความสุขได้อย่างไร เช่นของประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงานในเรื่องของการก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับคุณและครอบครัว, ปัญหาต่าง ๆ ของงานช่วยสร้างประสบการณ์ดี ๆให้คุณ ทำให้คุณเก่ง มีทักษะและมีความรู้ พร้อมที่จะเจริญเติบโตในสายงานอาชีพของคุณ ฯลฯ

๒) หัวหน้า หลายท่านทำงานในบทบาทของลูกน้องและมักโดนหัวหน้าตำหนิบ่อย ๆ จนทำให้คุณไม่อยากทำงานเกิดความเบื่อหน่ายที่ต้องมาทำงาน มาเจอหัวหน้ากันใช่ไหมครับ เราลองมาวิเคราะห์กันนะครับว่าหัวหน้าของเราเขาเก่งด้านไหน เชี่ยวชาญอะไร เราต้องการให้เขาช่วยอะไร และเราอยากที่จะช่วยอะไรกับหัวหน้าของเรา เพื่อที่ทั้งเราและหัวหน้าจะได้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานพร้อม ๆ กัน และไม่เกิดการปัดแข้งปัดขากันเองจนต้องจมเหวด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะการทำงานนั้นจำเป็นต้องดำเนินไปตามโครงสร้างการบริหาร(Organization)

๓) ลูกน้อง หัวหน้าหลาย ๆ ท่านมักมีปัญหาว่างงานไม่เดินเพราะมีลูกน้องที่ด้อยประสิทธิภาพ วัน ๆ ต้องหัวเสียกับลูกน้อง หนำซ้ำยังโดนผู้ใหญ่ตำหนิอีกว่างานล่าช้าขาดประสิทธิภาพ หมดความสุขในการทำงานไปเห็นงานเหมือนยาขมกันใช่ไหมครับ สำหรับเหตุนี้ผู้เขียนขอแนะนำบรรดาหัวหน้าทั้งหลายให้นำลูกน้องของตนเองออกมาแจกแจงว่าเขามีข้อดีอย่างไรบ้าง และเขามีข้อด้อยอย่างไรบ้างนะครับ แต่การแจกแจงต้องปราศจากอคติใด ๆนะครับ แล้วเราก็เลือกใช้ของเขาตามข้อดี ส่วนข้อด้อยของเขาก็ถือเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องพัฒนาให้ได้ดังใจเราต้องการ ซึ่งขั้นตอนการพัฒนาก็ง่าย ๆ โดยเริ่มวิเคราะห์หาสาเหตุที่คุณจะพัฒนา ข้อด้อยข้อนั้น และคาดถึงผลของการพัฒนาว่าจะได้รับอย่างไร และแน่นอนคุณต้องจัดการวางแผนระยะเวลาการพัฒนาจะดำเนินเมื่อใด สิ้นสุดเมื่อใด เพราะหากคุณคิดโดยปราศจากแผนระยะเวลาแล้วก็เปรียบเสมือนคุณเป็นจิตรกรที่มีภาพวาดในจิตนาการแต่มิได้วาดภาพออกมาเป็นภาพให้ผู้อื่นได้ชื่นชมนั้นละครับ

๔) เพื่อนร่วมงาน(ลูกค้า) สำหรับเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกันหมายรวมถึงในส่วนงานเดียวกันและต่างส่วนงานนะครับเพราะการทำงานภายใต้โครงสร้างการบริหาร(Organization) นั้นทุกหน่วยงานย่อยต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนมักเจอปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานที่ขาดการสานสัมพันธ์ที่ดีจนก่อให้เกิดปัญหากับงาน พนักงานไม่อยากมาทำงานเหล่านี้ เพื่อให้เกิดมุมมองเชิงบวกผู้เขียนขอแทนเขาเหล่านั้นด้วนคำว่า “ลูกค้า” และขอให้ท่านผู้อ่านมีมุมมองว่า ลูกค้าคืออะไร เราได้ประโยชน์อะไรจากการมีลูกค้า แต่ที่สำคัญคือลูกค้าต้องการอะไรจากเราเหมือนดังคำกล่าวของท่านพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ที่ว่า “มีลูกค้าจู้จี้ ยังดีกว่าวันทั้งวัน ไม่มีใครแวะเวียนผ่านมาเยี่ยมเยียนถึงในร้าน ลูกค้าจู้จี้ได้ แต่คุณต้องทำให้เขาประทับใจเอาไว้เสมอ”

หากท่านผู้อ่านทุกท่านสามารถปฏิบัติตามมุมมองดังกล่าวข้างต้นได้แล้ว ผู้เขียนขอรับรองว่าทุกท่านจะมีความสุขในการที่ได้ทำงานและมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขแน่นอนครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น