วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

หลัก 5 ประการสู่ความสำเร็จของชีวิต

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน
สำหรับบทความตอนนี้ผมขอใช้ชื่อ “หลัก 5 ประการสู่ความสำเร็จของชีวิต” นะครับ แรงบันดาลใจของบทความนี้มาจากการที่ผมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเมืองของเราอาทิเช่น การเปิดตลาดเสรีอาเซียน การเปิดเสรีทางการค้ากับจีน การเปิดเสรีทางการค้ากับญี่ปุ่น การเปิดเสรีทางการค้ากับอินเดีย ฯลฯ ทำอย่างไรเราถึงจะเดินไปสู่ความสำเร็จของชีวิตได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผมมีหลักการดำเนินชีวิต 5 ข้อ ที่ทุกท่านสามารถที่จะนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติและเกิดผลสำเร็จต่อตัวท่านเองดังนี้

๑) ชีวิตการเรียนรู้ (Learning Life) เป็นการสร้างตนเองให้เป้นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ตลอดชีวิตของคนเรานั้นต้องอยู่กับการเรียนรู้ตลอดเวลาเพราะสภาพแวดล้อมของสังคมเรานั้นมีพัฒนาแปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาหากเราหยุดเรียนเมื่อใดเท่ากับว่าเราหยุดอยู่กับที่ก็จะทำให้เรากลายเป็นคนล้าหลังไปในทันทีดังนั้นผมขอนำเสนอการเรียนรู้อย่างง่าย ๆ เพื่อเป็นการพัฒนาตนเองเข้าสู่ “ชีวิตการเรียนรู้ (Learning Life)” ดังนี้คือ
 การอบรมและพัฒนา Training and Development ทุกท่านสามารถที่จะดำเนินได้ง่ายและไม่ต้องใช้การลงทุนสูง เป็นการสร้างการเรียนรู้ให้ตนเองที่กระทำได้ทั้งแบบในห้องเรียนและนอกห้องเรียน หรือ OJT (On Job Training) สามารถดำเนินได้ตลอดเลา และให้นำสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้มานั้นปรับและพัฒนาเป็นทรัพย์สินของตนเอง
 การวิจัยและพัฒนา Research and Development อาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางท่านเพราะการเรียนรู้ในลักษณะนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและทุนค่อนข้างสูงมาเป็นเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาความรู้ของตนเอง
 การลอกเลียนแบบและพัฒนา Copy and Development เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถกระทำได้อย่างง่ายแต่สำหรับเรื่องนี้ผมขอใช้คำว่า “Benchmarking” แทนเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของท่านผู้อ่าน การ Benchmarking คือการค้นหาจุดเด่นจุดด้อยของตนเอง โดยใช้วิธีเปรียบเทียบกับผู้อื่น ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า จากนั้น นำข้อมูลที่วิเคราะห์ได้มาปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เขาเป็นอยู่
๒) คิดและคลิก (Think and Click) ผมขอแยกข้อนี้ออกเป็นสองส่วนคือ ท่านต้องรู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะเป็น และท่านต้องรู้ว่าท่านอยากที่จะเรียนรู้และพัฒนาอะไรในตัวท่านเมื่อคิดได้แล้วท่านจะต้องลงมือค้นหาหรือสืบค้นสิ่งที่ท่านต้องการในทันที โดยอาศัยการคลิกเมาส์ คอมพิวเตอร์ (Computer) เพราะปัจจุบันนี้โลกเราอยู่ที่ปลายนิ้วที่ท่านใช้คลิกเมาส์นี่แหละครับ ถ้าหากท่านคิดและไม่ลงมือปฏิบัติท่านก็เปรียบเสมือนจิตกรที่เขียนภาพวาดไว้ในมโนภาพของตนเอง แต่มิได้ลงมือวาดออกมาเป็นภาพให้ผู้อื่นได้เชยชมนั้นเองครับ

๓) ความเชี่ยวชาญ (Expert) ท่านต้องค้นหาตนเองให้พบว่า ท่านเก่งด้านใด มีความชำนาญหรือเชี่ยวชาญในด้านใด และวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ท่านทำอยู่ในปัจจุบันนี้ ใช่ในสิ่งที่ท่านเชี่ยวชาญหรือไม่ หากยัง ท่านจะต้องหมั่นฝึกฝนและพัฒนาตนเองให้เกิดความเชี่ยวชาญในแขนงนั้น ๆ และแสดงให้บุคคลอื่นรับทราบ (Present Face) เพื่อเป็นการสร้างโอกาสก้าวหน้าให้กับตัวท่านเอง

๔) ความหลากหลายในภาษา Multi- Language ปัจจุบันนี้เราอยู่บนโลกที่ใบเล็กนิดเดียว และในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคม ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community: EEC) ท่านจะต้องสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในตัวท่านเพื่อรองรับความเป็นไปของAEC และอย่างน้อยควรมี ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาพื้นฐานที่สำคัญ ส่วนภาษาที่สามนั้นท่านสามารถเลือกภาที่ท่านชอบได้เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาเกาหลี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบและความสะดวกในการทำงานและเรียนรู้ของท่าน

๕) การสื่อสาร (Communication) ท่านจะต้องสร้างเครือข่ายและช่องทางการสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับตัวท่าน เพราะหากมิสามารถสื่อให้โลกรู้ได้ท่านก็มิได้ต่างจากกบในกะลาแต่อย่างใด

สิ่งที่ผมกล่าวมาข้างต้นทั้ง ๕ ประเด็นล้วนเป็นสิ่งที่มองดูเหมือนง่ายนะครับ แต่ท่านต้องพิจารณาดี ๆ นะครับเพราะว่าเรื่องง่าย ๆ เหล่านี้เป็นจุดเสียเปรียบสำหรับประเทศที่ไม่เคยสูญเสียเอกราชอย่างประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศในแถบตะวันตก เพราะว่าภาษากลางที่ใช้ในการสื่อสารของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือภาษาอังกฤษ ดังนั้นเราต้องร่วมกันสร้างนิสัยใฝ่ที่จะเรียนรู้ให้กับคนไทยและพัฒนาประชาชนคนไทยให้สามารถใช้ภาอังกฤษได้อย่างเหมาะสมกับสภาวะที่เปลี่ยนไปของสังคมเรา

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ระบบทุนนิยม

ระบบทุนนิยมตลาดเสรีที่มีรูปลักษณ์ในปัจจุบันไม่ได้เป็นระบบเศรษฐกิจ ที่มีอยู่คู่กับโลกนี้มาแต่ดั้งเดิมแต่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของบริบททางประวัติศาสตร์ ซึ่งสามารถแบ่ง
พัฒนาการของระบบทุนนิยม เป็นดังนี้

1. ทุนนิยมเสรี(คลาสสิค) นักคิดที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดนี้คนสำคัญก็คือ อดัม สมิธ ผู้ที่เสนอมือที่มองไม่เห็น(Invisible Hand) ในการจัดการเศรษฐกิจ อดัม สมิธ เชื่อว่าการปล่อยให้เศรษฐกิจดำเนินไปโดยที่รัฐไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว จะทำให้ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจของสังคมโดยรวมดีขึ้น โดยแนวคิดนี้เกิดขึ้นมาจากการต่อต้านลัทธิพาณิชย์นิยมที่เน้นให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดในการค้าต่างประเทศ แต่การที่ให้รัฐผูกขาดเช่นนั้นทำให้ระบบเศรษฐกิจประสบปัญหากับผลผลิตล้นเกิน ไม่สามารถระบายสินค้าที่ผลิตจำนวนมากๆได้ เนื่องจากภาคเอกชนไม่มีกำลังซื้อที่เพียงพอ ดังนั้นการปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินการเองจึงเป็นการสร้างเสถียรภาพและความสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจ (ม.ส.ธ. 2526) แนวคิดการปล่อยให้ภาคเอกชนเข้ามาจัดการเศรษฐกิจโดยรัฐไม่เข้ามาก้าวก่ายนี้จึงเป็นแนวคิดหลักของทุนนิยมเสรี และการปล่อยให้นายทุนดำเนินการเองส่งผลให้เกิดการพัฒนาพลังทางการผลิตมากขึ้น ก่อให้เกิดการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นระดับหนึ่งแต่อีกด้านหนึ่งกลับทำให้คนที่แข็งแรงมากกว่าเอารัดเอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่าได้

2. ทุนนิยมแบบเคนส์ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ประสบภาวะทางตันเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 1930 การปล่อยให้เอกชนจัดการเศรษฐกิจไม่ช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น จึงมีนักเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่งได้เสนอให้รัฐเข้ามามีบทบาทในการเข้ามาแก้ปัญหามากขึ้น นักเศรษฐศาสตร์ผู้นั้นคือ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ซึ่งเสนอว่าระบบตลาดเสรีปัญหามาจากการลังเลใจของนายทุนที่จะลงทุนในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ดังนั้นแนวทางออก ที่ควรจะเป็นคือรัฐบาลต้องมีมาตรการในการควบคุมการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศ ลดอัตราดอกเบี้ยและต้องเร่งใช้งบประมาณของรัฐในการลงทุน เพื่อกระตุ้นความต้องการในการใช้จ่าย(ประชาธิปไตยแรงงาน 2544 : 2) ตัวอย่างของแนวความคิดนี้ถูกนำไปใช้โดยประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รุสเวลต์แห่งสหรัฐอเมริกาภายใต้นโยบาย นิวดีล ซึ่งนโยบายนี้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจขณะนั้นพอสมควร

3. ทุนนิยมโดยรัฐ เป็นแนวคิดระบบเศรษฐกิจหนึ่ง ที่รัฐมีบทบาท ควบคุมเศรษฐกิจของประเทศนักวิชาการคนหนึ่งที่เสนอแนวคิดนี้คือโทนี่ คลิฟ เขาเห็นว่าระบบเศรษฐกิจของรัฐเซียสมัยสตาลิน มิใช่เป็นเศรษฐกิจตามแนวทางสังคมนิยมแต่เป็นรูปลักษณ์ของระบบทุนนิยมประเภทหนึ่ง ระบบทุนนิยมโดยรัฐ มีลักษณะต่างสังคมนิยมกล่าวคือเป็นระบบเศรษฐกิจปัจจัยการผลิตถูกควบคุมจากข้ารัฐการมากกว่าจะเป็นของกรรมาชีพ เป็นระบบที่กรรมาชีพไม่มีสิทธิรวมตัวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน มีการปฏิเสธสิทธิพื้นฐานของกรรมาชีพ การกดขี่แรงงานภายใต้เงื่อนไขการผลิต การกดขี่การผลิตเพื่อความต้องการที่จะผลิตเพื่อสะสมทุน มีการสะสมทุนในขณะที่ความยากจนเพิ่มขึ้นซึ่งแสดงว่ามีการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานอยู่ (ใจ 2543 : 158-163) ดังนั้นระบบเศรษฐกิจการเมืองในลักษณะเช่นนี้ถึงแม้รูปแบบเปลือกนอกอาจจะอ้างว่าเป็นรัฐสังคมนิยม แต่เนื้อในแล้วก็เป็นเพียงลักษณะหนึ่งของระบบทุนนิยม

4. ทุนนิยมตลาดเสรี ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยให้รัฐมีบทบาทเข้ามาควบคุมจัดการประสบปัญหาวิกฤติศรัทธาเมื่อเผชิญปัญหากับวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 1970 แนวคิดนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทำให้เริ่มมีกระแสในการหันกลับไปใช้ความคิดเสรีนิยมอีกครั้ง เป็นการนำเอากลไกตลาดเข้ามาจัดการเศรษฐกิจโดยนักคิดที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์สายนีโอคลาสิค (Neo-classsical) หรือพวกที่ยึดมั่นถือมั่นในระบบตลาดและการค้าเสรี โดยพวกเขามีสมมติฐานว่า หน่วยเศรษฐกิจที่อยู่ในระบบมีการแข่งขันโดยเสรี การกำหนดปริมาณการผลิต ราคาสินค้า ปริมาณการจ้างงาน และราคาปัจจัยการผลิต ทำโดยกลไกของตลาดด้วยอุปสงค์(demand)และอุปทาน( supply ) วิสาหกิจเอกชนขนาดเล็กจำนวนมากแข่งขันกันอย่างเสรีไม่มีการจำกัดและการผูกขาดจากกลุ่มธุรกิจใดๆ(ฉัตรทิพย์ 2541:111-121) สำนักนีโอคลาสิคเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจตามทฤษฎีเช่นนี้เป็นระบบที่ดีที่สุดที่จะสรรทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดให้กับสังคมสำนักนี้มีนักคิดคนสำคัญเช่นเจวอน(stanley jevon) ,มาร์แชล(Alfred Marshall), เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ความสุขในการทำงานจากมุมมองเชิงบวก 360องศา

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ผู้เขียนมีข้อคิดในการดำเนินชีวิตที่เป็นแง่คิดเตือนใจ เรื่อง “ความสุขในการทำงานจากมุมมองเชิงบวก 360องศา” มาช่วยกันแชร์ความคิดนะครับ

คนเราทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตนั้นต้องจมอยู่กับการทำงานต่าง ๆ มากมาย หลาย ๆ ท่านมีความสุขแต่อีกหลาย ๆ ท่านต้องทนทุกข์อย่างสาหัสกับการทำงาน ทั้ง ๆที่ชีวิตการทำงานนั้นให้สิ่งต่าง ๆ มากมายกับตัวเราและบุคคลรอบข้างเรา แล้วเหตุใดหลายบุคคลเหล่านั้นจึงต้องทุกข์ทรมารกับการทำงาน ผู้เขียน เห็นว่าคนเรานั้นมีมุมมองสองด้านคือ ด้านบวก (Positive) และด้านลบ (Negative) แต่คนส่วนใหญ่มักจะมีมุมมองที่โน้มเอียงไปทางด้านลบ โดยการนำสิ่งที่ตนเองได้รับอยู่ไปเปรียบเทียบกับบุคคลอื่นโดยขาดการพิจารณาในองค์ประกอบ อาทิเช่น เรื่องของเงินเดือนที่ต้องเก็บให้เป็นความลับส่วนบุคคล แต่ด้วยมารยาทของคนไทยที่ความอยากรู้อยากเห็นที่มักจะถามเรื่องเงินเดือนที่ได้รับ และมักนำมาเปรียบเทียบกับตนเองจนก่อให้เกิดความไม่สบายใจและรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับตนเอง

นอกจากนี้ หลาย ๆ ท่านยังนำเรื่องดังกล่าวมาสร้างมุมมองด้านลบ (Negative) อีกว่า ตนเองไม่มีเส้นมีสายในที่ทำงาน และมิได้เป็นคนโปรดของหัวหน้างาน โดนเพื่อนร่วมงานขโมยผลงานต่าง ๆ นา ๆ จนทำให้ตนเองไม่ได้รับความยุติธรรม หรือในบทบาทของหัวหน้าที่ได้รับการตำหนิจากผู่ใหญ่และได้โยนผลของการกระทำดังกล่าวไปให้ลูกน้องว่าเกิดจากการที่ตนเองมีลูกน้องที่ขาดทักษะ ความรู้ และประสิทธิภาพในการทำงานจนส่งผลให้ตนเองต้องโดนตำหนิ แทนที่การเรียนรู้ความผิดพลาดและข้อบกพร่องต่าง ๆ และนำพัฒนาตนเองและทีมงานโดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทน

สำหรับประเด็นนี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ ท่านผู้อ่านทุกท่านทดลองใช้มุมมองเชิงบวก 360องศาโดยสมมุติตนเองเป็นจุดศูนย์กลางของวงกลม 360องศานะครับ และทำการพิจารณาตามผู้เขียนไปที่ละประเด็นดังนี้



๑) งาน หลายคนมีมุมมองทางลบกับงานที่ตนเองทำอยู่ใช่ไหมครับ ผู้เขียนขอแนะนำมุมมองเชิงบวกนะครับว่าให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาว่าจะทำงานอย่างสนุกและมีความสุขได้อย่างไร เช่นของประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงานในเรื่องของการก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับคุณและครอบครัว, ปัญหาต่าง ๆ ของงานช่วยสร้างประสบการณ์ดี ๆให้คุณ ทำให้คุณเก่ง มีทักษะและมีความรู้ พร้อมที่จะเจริญเติบโตในสายงานอาชีพของคุณ ฯลฯ

๒) หัวหน้า หลายท่านทำงานในบทบาทของลูกน้องและมักโดนหัวหน้าตำหนิบ่อย ๆ จนทำให้คุณไม่อยากทำงานเกิดความเบื่อหน่ายที่ต้องมาทำงาน มาเจอหัวหน้ากันใช่ไหมครับ เราลองมาวิเคราะห์กันนะครับว่าหัวหน้าของเราเขาเก่งด้านไหน เชี่ยวชาญอะไร เราต้องการให้เขาช่วยอะไร และเราอยากที่จะช่วยอะไรกับหัวหน้าของเรา เพื่อที่ทั้งเราและหัวหน้าจะได้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานพร้อม ๆ กัน และไม่เกิดการปัดแข้งปัดขากันเองจนต้องจมเหวด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะการทำงานนั้นจำเป็นต้องดำเนินไปตามโครงสร้างการบริหาร(Organization)

๓) ลูกน้อง หัวหน้าหลาย ๆ ท่านมักมีปัญหาว่างงานไม่เดินเพราะมีลูกน้องที่ด้อยประสิทธิภาพ วัน ๆ ต้องหัวเสียกับลูกน้อง หนำซ้ำยังโดนผู้ใหญ่ตำหนิอีกว่างานล่าช้าขาดประสิทธิภาพ หมดความสุขในการทำงานไปเห็นงานเหมือนยาขมกันใช่ไหมครับ สำหรับเหตุนี้ผู้เขียนขอแนะนำบรรดาหัวหน้าทั้งหลายให้นำลูกน้องของตนเองออกมาแจกแจงว่าเขามีข้อดีอย่างไรบ้าง และเขามีข้อด้อยอย่างไรบ้างนะครับ แต่การแจกแจงต้องปราศจากอคติใด ๆนะครับ แล้วเราก็เลือกใช้ของเขาตามข้อดี ส่วนข้อด้อยของเขาก็ถือเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องพัฒนาให้ได้ดังใจเราต้องการ ซึ่งขั้นตอนการพัฒนาก็ง่าย ๆ โดยเริ่มวิเคราะห์หาสาเหตุที่คุณจะพัฒนา ข้อด้อยข้อนั้น และคาดถึงผลของการพัฒนาว่าจะได้รับอย่างไร และแน่นอนคุณต้องจัดการวางแผนระยะเวลาการพัฒนาจะดำเนินเมื่อใด สิ้นสุดเมื่อใด เพราะหากคุณคิดโดยปราศจากแผนระยะเวลาแล้วก็เปรียบเสมือนคุณเป็นจิตรกรที่มีภาพวาดในจิตนาการแต่มิได้วาดภาพออกมาเป็นภาพให้ผู้อื่นได้ชื่นชมนั้นละครับ

๔) เพื่อนร่วมงาน(ลูกค้า) สำหรับเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกันหมายรวมถึงในส่วนงานเดียวกันและต่างส่วนงานนะครับเพราะการทำงานภายใต้โครงสร้างการบริหาร(Organization) นั้นทุกหน่วยงานย่อยต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนมักเจอปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานที่ขาดการสานสัมพันธ์ที่ดีจนก่อให้เกิดปัญหากับงาน พนักงานไม่อยากมาทำงานเหล่านี้ เพื่อให้เกิดมุมมองเชิงบวกผู้เขียนขอแทนเขาเหล่านั้นด้วนคำว่า “ลูกค้า” และขอให้ท่านผู้อ่านมีมุมมองว่า ลูกค้าคืออะไร เราได้ประโยชน์อะไรจากการมีลูกค้า แต่ที่สำคัญคือลูกค้าต้องการอะไรจากเราเหมือนดังคำกล่าวของท่านพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ที่ว่า “มีลูกค้าจู้จี้ ยังดีกว่าวันทั้งวัน ไม่มีใครแวะเวียนผ่านมาเยี่ยมเยียนถึงในร้าน ลูกค้าจู้จี้ได้ แต่คุณต้องทำให้เขาประทับใจเอาไว้เสมอ”

หากท่านผู้อ่านทุกท่านสามารถปฏิบัติตามมุมมองดังกล่าวข้างต้นได้แล้ว ผู้เขียนขอรับรองว่าทุกท่านจะมีความสุขในการที่ได้ทำงานและมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขแน่นอนครับ

เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

ซึ่งผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามบทบัญญัติมาตรา 50 (1) วรรคสาม ซึ่งมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาเป็นอันมาก จึงขอนำมาเป็นประเด็น ปุจฉา - วิสัชนา ดังต่อไปนี้
ปุจฉา เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน มีลักษณะอย่างไร
วิสัชนา ลักษณะของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ได้แก่ เงินได้ดังต่อไปนี้ โดยผู้มีเงินได้ต้องปฏิบัติงานกับนายจ้างหรือหน่วยงานที่จ่ายเงินได้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์
1. เงินบำเหน็จที่ทางราชการกระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การของรัฐบาล เป็นผู้จ่าย ตามกฎหมายว่าด้วย บำเหน็จบำนาญข้าราชการ
2. เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วย บำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งจ่ายโดยนายจ้างอื่นใดที่มิใช่กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การของรัฐบาล
3. เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้แก่ เงินได้ส่วนที่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบและผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เช่น ดอกเบี้ย ในนามของลูกจ้างหรือผู้มีเงินได้แต่ละคน เป็นต้น
4. เงินที่จ่ายจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กองทุน กบข.) ได้แก่ เงินได้ส่วนที่เป็นเงินที่ทางราชการจ่ายสมทบ และผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้จากกองทุน กบข. เช่น เงินประเดิม ดอกเบี้ยในนามของข้าราชการหรือผู้มีเงินได้แต่ละคน เป็นต้น
เงินที่จ่ายจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการในกรณีนี้ มีกฎหมายยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) โดยให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2540 เป็นต้นไป
5. เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานหรือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้แก่ กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างงาน โดยที่ลูกจ้างไม่ปรากฏความผิด ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
6. เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตาม 1. ถึง 5. เช่น นายจ้างจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนหนึ่งเท่าครึ่งหรือสองเท่าของเงินบำเหน็จปกติที่คำนวณตามหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเพิ่มจำนวนปีที่ทำงานในการคำนวณบำเหน็จให้แก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างทำงานอยู่กับนายจ้างเป็นระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้ หรือเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานสุดแต่ความพอใจของนายจ้าง เป็นต้น
ปุจฉา เงินบำเหน็จที่ทางราชการกระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การของรัฐบาล เป็นผู้จ่าย ตามกฎหมายว่าด้วย บำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขอย่างไร
วิสัชนา เงินบำเหน็จดังกล่าว มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้
บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x จำนวนปีที่ทำงาน
เงินเดือนเดือนสุดท้าย หมายความว่า เงินเดือนที่ได้รับจากเงินงบประมาณประเภทค่าใช้จ่าย
เงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ออกจากราชการ รวมทั้งเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับค่าวิชาและหรือเงินเพิ่มการเลื่อนฐานะ และหรือเงินสำหรับประจำตำแหน่งที่ต้องฝ่าอันตรายเป็นปกติ และหรือสำหรับการสู้รบ และหรือสำหรับการปราบปรามผู้กระทำความผิด แต่ไม่รวมถึงเงินเพิ่มอย่างอื่น
เวลาราชการสำหรับการคำนวณบำเหน็จ หมายความว่า เวลาราชการที่ข้าราชการรับราชการมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับเงินเดือน ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ โดยให้นับแต่จำนวนปีเท่านั้น สำหรับเศษของปีถ้าถึงครึ่งปี ให้นับเป็น หนึ่งปี การนับระยะเวลาดังกล่าวสำหรับเดือนหรือวันให้คำนวณตามวิธีการจ่ายเงินเดือนและให้นับสิบสองเดือนเป็นหนึ่งปี สำหรับจำนวนวันถ้ามีรวมกันหลายระยะให้นับ 30 วันเป็นหนึ่งเดือน และในกรณีที่กฎหมายให้นับเวลาราชการทวีคูณ ก็สามารถนำเวลาราชการทวีคูณมาคำนวณบำเหน็จได้ด้วย
ปุจฉา ข้าราชการมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญปกติเพราะเหตุออกจากงานเนื่องจากกรณีใดบ้าง
วิสัชนา ข้าราชการมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญปกติเพราะเหตุออกจากงานเนื่องจากกรณี ดังต่อไปนี้
1. เหตุทดแทน ได้แก่ การที่ข้าราชการออกจากประจำการเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่งหรือซึ่งคำสั่งให้ออกโดยไม่มีความผิด
2. เหตุทุพพลภาพ ได้แก่ การที่ข้าราชการป่วยเจ็บ ทุพพลภาพ ซึ่งแพทย์ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าไม่สามารถที่จะรับราชการในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป
3. เหตุสูงอายุ ได้แก่ การที่ข้าราชการมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้วหรือถ้าข้าราชการ ผู้ได้มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วประสงค์จะลาออกจากราชการก็ให้ผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ลาออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จเพราะสูงอายุได้
4. เหตุรับราชการนาน ได้แก่ การที่ข้าราชการรับราชการครบ 30 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าข้าราชการผู้ใดรับราชการครบ 25 ปีบริบูรณ์แล้ว ประสงค์จะลาออกจากราชการก็ให้ผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ลาออกเพื่อรับบำเหน็จปกติเพราะเหตุรับราชการนานได้
ทีมา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ http://www.bangkokbiznews.com/